Nutraceutical / โภชนเภสัช

Nutraceutical / โภชนเภสัช


นิวตราซูติคอล (Nutraceuticals)  เป็นคำที่เกิดจากการผสม ระหว่างคำว่า "nutrients"ซึ่งหมายถึง สารอาหาร และ "pharmaceutics" ซึ่งหมายถึง ยา 



คำนี้บัญญัติขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.1979 โดย นายแพทย์ Stephen De Felice ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ Foundation for Innovation in Medicine (FIM, Cranford, NJ)

Nutraceutical หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีสรรพคุณซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ประโยชน์ทางยา ป้องกันโรค รักษาโรค และชะลอความชรา

ปี พ.ศ. 2532 องค์การนวัตกรรมทางการแพทย์ (Foundation for Innovation in Medicine) ได้บัญญัติศัพท์เฉพาะทางวิชาการขึ้นคำหนึ่งคือ Nutraceutical เพื่อใช้เรียกสารสกัดจากอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งมีคุณสมบัติในการป้องกันรักษาโรค ที่มักผลิตขึ้นในรูปแบบคล้ายยา เช่น เป็นแคปซูล, เม็ด, สารละลาย, สารแขวนลอย, หรือเป็นผง 





ผลิตภัณฑ์ Nutraceutical ที่กล่าวนี้ แพร่หลายสู่ท้องตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทผู้ผลิตมองเห็นผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ และประชาชนทั่วโลก ก็หันมาสนใจแสวงหามาบริโภค เพราะตกอยู่ในกระแสของการรณรงค์ในเรื่องอาหารกับสุขภาพ  ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น Nutraceutical ได้แก่  สารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) จาก องุ่นแดง ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant), สารซัลฟอราเฟน  (Sulforaphane) จากบรอคเคอรี่ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง, หรือสารไอโซฟลาโวนอยดส์ (Isoflavonoids) จากถั่วเหลืองที่มีคุณสมบัติช่วยให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแข็งแรง เหล่านี้เป็นต้น  

ทั้งนี้การกล่าวอ้างคุณสมบัติต่างๆ เช่นที่กล่าว จำเป็นต้องมีหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์รองรับอย่างชัดเจนพอ

ขอบเขตความหมายของ โภชนเภสัช และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สารสกัดที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพที่เรียกว่า โภชนเภสัช ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นยา ดังนั้นข้อบังคับในการผลิต การจำหน่ายและการติดฉลากจึงไม่เคร่งครัดเหมือนยา  ส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชได้ตามร้านขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์และไม่จำเป็นต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร  

ผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชนี้ มีความหมายกี่ยวโยงกับ ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร (Dietary Supplement) อาหารเฉพาะพันธกิจ (Functional Food) และคำว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ (Natural Health product) ดังจะได้อธิบายต่อไป

ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร (Dietary Supplement) 

คำนี้เป็นวลีบัญญัติ ของคำว่า Dietary Supplement  ซึ่งมักนิยมใช้กันว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  หรือ อาหารเสริม ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นที่ทราบกันแล้วว่า Diet ไม่ได้หมายถึง Food แต่หมายถึง สมดุลของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารที่มนุษย์กินในชีวิตประจำวัน ตามที่ร่างกายมนุษย์แต่ละคนต้องการในแต่ละวัย แต่ละสภาพของร่างกาย และแต่ละลักษณะของกิจกรรมในชีวิต เพื่อให้ชีวิตเจริญเติบโต และดำรงอยู่อย่างแข็งแรง เป็นปกติสุขและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีคุณภาพ  

ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร ซึ่งหมายถึงสารจากธรรมชาติ เช่น วิตามิน เกลือแร่ กรดไขมัน หรือกรดอะมิโน ที่นำมาใช้เพิ่มเติมลงในอาหารจากธรรมชาติที่มีสารอาหารไม่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย 

ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหารนี้อาจถือเป็น ยา หรือ อาหาร แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ และกฎหมายของแต่ละประเทศ  ตัวอย่าง สารฮอร์โมนทั้งที่เป็นสารสเตียรอยด์ (steroid) เช่น DHEA และ pregnenolone และไม่ใช่ steroid เช่น melatonin นั้น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจัดให้เป็น อาหาร ประเภทผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร  สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป 

ส่วนในประเทศไทย และในสหภาพยุโรปหลายประเทศ ยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้โดยเสรีเหมือนในสหรัฐอเมริกา  อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกานั้นได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นสารในกลุ่ม วิตามิน, เกลือแร่, สมุนไพร, กรดอะมิโน, สารสกัดเข้มข้น, หรือ เมตาบอไลท์, หรือสารช่วยเพิ่มปริมาณอาหารให้ผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน โดยอาหารเสริมเหล่านี้จะต้องอยู่ในรูปแบบที่เป็น เม็ด, แคปซูล, ผง, หรือเป็นของเหลว  และห้ามใช้บริโภคเป็นอาหารทั่วไป รวมทั้งต้องติดฉลากว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร”  - “Dietary Supplement” ให้ชัดเจนด้วย


อาหารเฉพาะพันธกิจ (Functional Food) 

Functional Food หมายถึง สิ่งที่รับประทานเข้าไปแล้ว ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ทางโภชนาการทั่วๆไป  โดยอาจมีคุณสมบัติช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น  ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ  หรือแม้กระทั่งช่วยรักษาโรคบางชนิด  

ปัจจุบันตลาดของอาหารเฉพาะพันธกิจนั้นมีมูลค่ามหาศาล เฉพาะใน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ รวมกัน ก็มีมูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท  ตัวอย่างอาหารเฉพาะพันธกิจที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่น  
  • อาหารโพรไบโอติก (Probiotics) ในรูปโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มชนิดต่างๆ หลายร้อยชนิด โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ โดยชนิดที่นิยมใช้เป็นอาหารพันธกิจคือ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม lactic acid bacteria (LAB) และ bifidobacteria  
  • อาหารพรีไบโอติก (Prebiotics) ใช้เสริมในเครื่องดื่ม, นมผงเด็ก, ซีเรียล, หรือโยเกิร์ต (ซึ่งในกรณีนี้จะมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Synbiotics เพราะมีทั้ง Probiotics และ Prebiotics อยู่ด้วยกัน) พรีไบโอติก หมายถึง สารที่ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของ โพรไบโอติก ตัวอย่างของ prebiotics ที่นิยมใช้ในอาหารเฉพาะพันธกิจได้แก่ Inulin, FOS (fructo-oligosacchardie), GOS (galacto-oligosaccharide), XOS (xylo-oligosaccharide), SOS (soy oligosaccharide) เป็นต้น 
  • เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพชนิดต่างๆ ที่มีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่น วิตามินเอ, ซี, อี, เครื่องดื่มที่ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอล, มี Omega-3 และ สารสกัดจากถั่วเหลืองผสมอยู่, เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพตา ที่มี Lutein, หรือเครื่องดื่มบำรุงกระดูกที่มี Calcium และ Inulin นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอาหารเฉพาะพันธกิจที่เป็นที่นิยมอื่นๆ อีกเช่น ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (Bakery) ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง ไข่ หรือเนื้อสัตว์ที่เสริมด้วยสารที่มีคุณประโยชน์ต่างๆ เช่น Omega-3 Fatty Acid หรือ วิตามินอี  

ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ (Natural Health Product) 

หมายรวมถึงสารจากธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งจาก พืช, สัตว์, รา, สาหร่าย, และจุลชีพที่มีคุณสมบัติในการ บำบัดและป้องกันโรค หรือเหมาะสมในการใช้รักษาสุขภาพ และยังรวมถึงสารที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์อีกด้วย 

ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาตินี้ จึงหมายรวมถึงสารจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ได้แก่ วิตามิน, เกลือแร่, ยาแผนโบราณท้องถิ่นต่างๆ, สมุนไพร, สารที่ใช้ในการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนทางเลือก และสาร ชีวโมเลกุล เช่น Insulin, สารในใบยาสูบ, และกัญชา เป็นต้น  



อ้างอิง 
รศ ดร. ภญ. มณฑารพ ยมาภัย, Nutraceutical - โภชนเภสัช และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง. เผยแพร่ในเว็บไซต์ 14 กันยายน 2556. เข้าถึงเมื่อ 17 ตุลาคม 2557.

บรรณานุกรม
1. Hardy, G. (2000) Nutraceuticals and functional foods: introduction and meaning. Nutrition, 16, 688-689.
2. Siró, I., E. Kpolna, B. Kpolna & A. Lugasi (2008) Functional food. Product development, marketing and consumer acceptance--A review. Appetite, 51, 456-467.
3. Walji, R. & H. Boon (2008) Natural health product regulations: perceptions and impact. Trends in Food Science & Technology, 19, 494-497.

4. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วงศ์สถิต ฉั่วสกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วิชิต เปานิล, และ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. สมุนไพร ยาไทยที่ควรรู้. พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ๑๗๖, หน้า พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น